เสริมสร้างสุขภาพด้วย สุขบัญญัติ 10 ประการ
สุขบัญญัติ 10 ประการ คือ ข้อกำหนดที่เด็ก และเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามสุขบัญญัติ 10 ประการ จะเป็นคนมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสมรรถภาพในการเรียน การทำงาน และ สุขบัญญัติ 10 ประการ ยังช่วยให้มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ ด้วย โดยสุขบัญญัติ 10 ประการ หรือ สุขบัญญัติแห่งชาตินี้ รัฐบาลได้ประกาศให้ดำเนินการและเผยแพร่ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ดังนั้นจึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 28 พฤษภาคม เป็น “วันสุขบัญญัติแห่งชาติ” อีกด้วย
สุขบัญญัติ 10 ประการ ประกอบด้วย
1.ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด ทำได้โดย
– อาบน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และสระผมอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรค
– ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
– ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ
– จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
2.รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี โดยการ
– แปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เวลาเช้า และก่อนนอน
– ถูหรือบ้วนปาก หลังทานอาหาร
– เลือกใช้ยาสีฟันและฟลูออไรด์
– หลีกเลี่ยงการทานลูกอม ลูกกวาด ท็อฟฟี่ ขนมหวานเหนียวต่าง ๆ เพื่อป้องกันฟันผุ
– ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
– ไม่ควรใช้ฟันกัดขบของแข็ง
3.ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
คือ ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนและหลังการเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังการขับถ่าย
4.กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด โดยการ
– เลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงหลัก 3 ป คือ ประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด
– ปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และใช้เครื่องปรุงรสที่ถูกต้อง โดยคำนึงหลัก 3 ส คือ สงวนคุณค่า สุกเสมอ และสะอาดปลอดภัย
– ทานอาหารที่มีการจัดเตรียม การประกอบอาหาร และใส่ในภาชนะที่สะอาด
– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
– รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการทุกวัน
– ทานอาหารปรุงสุกใหม่ รวมทั้งใช้ช้อนกลางในการทานอาหารร่วมกัน
– หลีกเลี่ยงทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารรสจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารใส่สีฉูดฉาด
– ดื่มน้ำสะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
– ทานอาหารให้เป็นเวลา
5.งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
– ผู้ที่จะมีสุขภาพดีตามสุขบัญญัติ 10 ประการ ต้องงดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดใช้สารเสพติด งดเล่นการพนัน นอกจากนี้ต้องส่งเสริมค่านิยม รักนวลสงวนตัว และมีคู่ครองเมื่อถึงวัยอันควร
6.สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ทำได้โดย
– ให้ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานบ้าน
– สมาชิกทุกคนในครอบครัวควรปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
– เผื่อแผ่น้ำใจให้กันและกัน
– จัดกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
– ชวนกันไปทำบุญ
7.ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท ทำได้โดย
- ระมัดระวังป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดภายในบ้าน เช่น เตาแก๊ส ไฟฟ้า ของมีคม ธูปเทียนที่จุดบูชาพระ ฯลฯ
- ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น ปฏิบัติตามกฏของการจราจรทางบก ทางน้ำ ป้องกันอันตรายจากโรงฝึกงาน ห้องปฏิบัติการ เขตก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการชุมนุมห้อมล้อม ในขณะเกิดอุบัติภัย
8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี โดยการ
– ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
– ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย
– ตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
9.ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ โดยการ
– พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างต่ำ 8 ชั่วโมง
– จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และที่ทำงานให้น่าอยู่
– หาทางผ่อนคลายความเครียด เมื่อมีปัญหา หรือเรื่องไม่สบายใจรบกวน อาจหางานอดิเรกทำ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูภาพยนตร์
– ช่วยเหลือผู้อื่นที่มีปัญหา
10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม เช่น
– กำจัดขยะภายในบ้าน และทิ้งขยะในที่รองรับ
– หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟม พลาสติก สเปรย์ เป็นต้น
– มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
– กำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือนและโรงเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้อง
– ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
– อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชน ป่า น้ำ และสัตว์ป่า เป็นต้น
ถ้าหากใครปฏิบัติได้ตาม สุขบัญญัติ 10 ประการ นี้ รับรองว่า จะมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียนแน่นอน
ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, กองสุขศึกษา สุขบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการสุขศึกษา พ.ศ. 2541 พิมพ์ครั้งที่ 3 โรงพิมพ์กองสุขศึกษา. กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี 2542 : (เล่มแดง)