การส่งผู้แทนเข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนบนเรื่อง “สอนนักศึกษาให้น่าสนใจและดึงดูดใจแบบนักแสดง”

การส่งผู้แทนเข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนบนเรื่อง “สอน นักศึกษาให้น่าสนใจและดึงดูดใจแบบนักแสดง” ในวันพฤหัสบดี ที่ 28 มี.ค. 56 เวลา 8.30 – 12.00 น. อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

          อาจารย์นพพร เอื้อรัตนพงษ์ จากบัณฑิตวิทยาลัย เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และได้ข้อสรุปสาระสำคัญของการประชุม มาด้วยว่าเป็นการสัมมนาแบบอิงประสบการณ์ โดยผู้จัดได้เชิญ คุณอภิญญา        สกุลเจริญสุข (สายป่าน) ซึ่งเป็นนักแสดงวัยรุ่นและเป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาเป็นวิทยากร ตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับการสอนให้น่าสนใจและดึงดูดแบบนักแสดง ดังนี้

 

          1. ในฐานะที่เป็นนักแสดงและเป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์คิดว่า ความรู้จากประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมาในเรื่องการแสดง มีส่วนคล้ายหรือสามารถนำไปปรับใช้กับคนที่เป็นอาจารย์ได้อย่างไร

          การเป็นอาจารย์ในบางครั้งก็ต้องทำตัวเหมือนนักแสดง คือ การเป็นนักแสดงต้องแสดงบทบาทให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ชม ในขณะเดียวกันการเป็นอาจารย์ก็ต้องแสดงบทบาทให้เป็นน่าสนใจของลูกศิษย์ เช่น มีการใช้น้ำเสียงที่มีโทนเสียงแตกต่างกัน สร้างความตื่นเต้นให้นักศึกษาบ้างในบางครั้งทำให้นักศึกษาคาดเดาได้ยากว่า อาจารย์จะทำอะไรต่อ ทำให้นักศึกษามีการตื่นตัวที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่น่าเบื่อ มีการใช้สายตา (Eye contact) อาจารย์ผู้สอนอยู่หน้าห้องต้องมีการใช้สายตามมองไปที่จุดใดจุดหนึ่งประมาณ 3-5 วินาที เพื่อจะได้มีจุดโฟกัส ไม่ใช่กวาดสายตาไปมาตลอดโดยไม่มีจุดโฟกัส ทำให้ดูเหมือนการพูดไปโดยไร้จุดหมาย

 

          2. ในประเด็นที่อาจารย์บางท่านมักจะเข้าสอนสายและเลิกก่อนเวลา

          ในฐานะที่เป็นนักศึกษา มองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบนักศึกษาอย่างมาก เนื่องจากนักศึกษาบางคนต้องตื่นเช้าและเดินทางมาไกลเพื่อมาเรียน แต่เมื่อมาถึงอาจารย์กลับเข้าสอนสายและยังเลิกก่อนเวลาอีก ทำให้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ

 

          3. กรณีอาจารย์บางท่านสอนแล้วนักศึกษารู้สึกง่วงนอน เนื่องจากเนื้อหาวิชาน่าเบื่อ มีวิธีแก้ปัญหาได้อย่างไร

          การแก้ปัญหาในกรณีดังกล่าว เสนอให้มีการใช้โทนเสียงที่แตกต่างกัน มีการแสดงบทบาทที่จริงจังบ้าง ใช้อารมณ์ขัน ตลกบ้างเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักศึกษา มีการประยุกต์ใช้ Talk Show บ้างแทนการนั่งอยู่ที่มุมของตัวเองและใช้โทนเสียงที่ชวนให้ง่วงนอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่ชอบวิจารณ์นักศึกษาแต่ไม่ให้คำแนะนำนักศึกษา ปล่อยให้นักศึกษาหาคำตอบเองโดยไม่มีการชี้แนะ ช่วยเหลือ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของอาจารย์ ทำให้ขาดความศรัทธาน่าเชื่อถือในกลุ่มลูกศิษย์